เกษตรสงขลา ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายด้านการเกษตรจากเหตุอุทกภัย พร้อมให้คำแนะนำเรื่องการบริหารจัดการแปลงหลังน้ำลด ในพื้นที่อำเภอบางกล่ำ

วันที่ 19 ธันวาคม 2567 นายประถม มุสิกรักษ์ เกษตรจังหวัดสงขลา มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายด้านการเกษตรจากเหตุอุทกภัย ในพื้นที่อำเภอบางกล่ำ
จากการสำรวจความเสียหายของพื้นที่ทำการเกษตรของเกษตรกรที่ได้ดำเนินกิจกรรมการปลูกไม้ผล (ส้มโอ) พบว่าพืชยังไม่ได้รับความเสียหายอย่างสิ้นเชิง สามารถดูแลฟื้นฟูได้ จึงได้ทำการชี้แจงหลักเกณฑ์ และวิธีการขอรับการช่วยเหลือแก่เกษตรกรผู้ประสบภัย พร้อมให้คำแนะนำเรื่องการบริหารจัดการแปลงหลังน้ำลด และการฟื้นฟูสภาพต้นให้สมบูรณ์แข็งแรง ป้องกันการเข้าทำลายของศัตรูพืช เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ให้เกษตรกรใช้ในการบริหารจัดการแปลงต่อไป
การฟื้นฟูสวนส้มโอหลังน้ำท่วม
- เกษตรกรต้องมีการบำรุงรักษาต้นให้เกิดรากให้เกิดรากใหม่ และให้แตกใบอ่อนโดยเร็ว
- ขณะเดียวกันต้องมีการจัดการดินให้ถูกต้องด้วย
ซึ่งขั้นตอนการปฏิบัติ มีดังนี้ (ต้นส้มโอถูกน้ำท่วมต้นส้มมักเกิดสภาพใบเหี่ยว และแห้งตายหากน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน)
การปฏิบัติเพื่อลดหรือบรรเทาความเสียหาย
1. ในพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมขัง ควรรีบระบายน้ำออกจากโคนต้นพืชโดยเร็ว โดยใช้เครื่องสูบน้ำ หรืออาจขุดร่องระบายน้ำให้ไหลออกจากพื้นที่ให้มากและเร็วที่สุด
2. ห้ามน้ำเครื่องจักรกล คน สัตว์ เข้าไปเหยียบย่ำบริเวณต้นพืชโดยเด็ดขาด เพราะดินที่น้ำท่วมขังจะมีโครงสร้างที่ถูกทำลายและเกิดการอัดแน่น ทำให้การไหลซึมและผ่านของน้ำและออกซิเจนค่อนข้างยาก ซึ่งจะทำให้รากพืชเกิดความ
เสียหายมากขึ้น /หากมีความจำเป็นต้องเข้าไปจัดการสวนในช่วงนี้ให้วางไม้กระดานวางบนหน้าดินเพื่อยืนทำงาน พยายามหลีกเลี่ยงการเหยียบหน้าดินโดยตรง
3. เก็บ/ตัดผลส้ม เก็บเกี่ยวผลส้มโอที่สามารถเก็บขายได้ ผลที่อายุยังน้อย ประมาณ 4-5 เดือน เด็ดทิ้งให้หมด เพราะผลส้มโอขนาดอายุดังกล่าวต้องการธาตุอาหารและน้ำอย่างมาก ในขณะที่สวนส้มโอมีน้ำท่วมขังจึงทำให้อาหารไม่เพียงพอ และทำให้ต้นส้มโอตายได้
4. การให้น้ำและธาตุอาหารเพิ่มเติม
ในระหว่างที่น้ำท่วมขังจะเป็นช่วงที่แสงแดดส่องไม่ถึงราก จะมีปริมาณออกซิเจนระลายในน้ำน้อย รากก็ไม่สามารถหายใจได้ตามปกติ ไม่สามารถดูดน้ำและธาตุอาหารในดินมาใช้ได้ แต่ต้นส้มโอยังคงต้องการน้ำและธาตุอาหารมาเลี้ยงต้นตามปกติ ดังนั้นวิธีการที่จะสามารถช่วยได้
- การให้น้ำทางใบระหว่างที่น้ำท่วม (วิธีการนี้ไม่ค่อยสะดวก แต่ถ้าน้ำแช่ขังนานๆ ซึ่งจำเป็นต้องช่วยต้นส้มโอก็อาจทำ
ได้) โดยใช้เรือรดน้ำพ่นน้ำเป็นละอองฝอยเหนือยอดต้น ทำให้น้ำมีโอกาสสัมผัสกับอากาศมากขึ้น เป็นการเพิ่ม
ออกซิเจนให้แก่น้ำ / ถ้าอากาศร้อน ควรให้น้ำวันเว้นวัน ถ้าอากาศไม่ร้อนมาก อาจจะ 2-3 วัน/ครั้ง
- การพ่นธาตุอาหารทางใบ เพื่อช่วยให้ต้นส้มโอตั้งตัวได้เร็วขึ้น ควรมีการพ่นปุ๋ยทางใบ เพราะในตอนนี้ระบบรากของพืชยังไม่สามารถดูดน้ำและธาตุอาหารจากดินมาใช้ได้ โดยใช้ปุ๋ยทางใบหรือปุ๋ยเกล็ดสูตรเสมอ สูตร 20-20-20 หรือ 21-21-21 อัตราตามคำแนะนำข้างฉลาก ทำการฉีดพ่นทุก 10 วัน จนกระทั่งต้นแตกใบอ่อนจนเป็นใบเพสลาด
5. ควรมีการตัดแต่งกิ่ง เพื่อเอากิ่งที่เป็นโรคและแมลงเข้าทำลายออก ให้ทรงพุ่มโปร่ง ให้แสงแดดส่องถึง ลดการเข้าทำลายของโรคและแมลงศัตรูพืช นอกจากนี้เป็นการลดการคายน้ำ และเร่งให้พืชแตกใบใหม่เร็วขึ้น
การจัดการดิน
1. การใส่ปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกปรับสภาพดิน หลังน้ำลดและดินเริ่มแห้งแล้ว เราต้องทำการฟื้นฟูโครงสร้างและสภาพดิน เนื่องจากน้ำท่วมสวนเป็นเวลานาน จะทำให้โครงสร้างและสภาพของดินเปลี่ยนแปลง ซึ่งทำได้โดยการใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักบริเวณรอบทรงพุ่ม ประมาณ 10-15 กิโลกรัม/ต้น ขึ้นอยู่กับอายุ ขนาด และความสมบูรณ์ของต้น ข้อควรระวัง การใส่ปุ๋ยคอก หากเลือกใช้มูลสุกรหรือมูลไก่ อาจมีโซดาไฟปนอยู่ซึ่งจะมีผลกระทบต่อระบบราก เพราะรากพืชหลังน้ำท่วมยังอ่อนแออยู่ /โซดาไฟอาจปนเปื้อนมาเวลาเค้าล้างคอกสัตว์เพื่อป้องกันและกำจัดแมลงวัน ให้สังเกตถ้ามูลสัตว์นั้นไม่พบแมลงในกองปุ๋ยเลย หรือไม่มีการคุ้ยเขี่ยของไก่หรือสัตว์เลี้ยง แสดงว่าอาจมีการปนเปื้อนของโซดาไฟ ไม่ควรนำมาใช้อย่างเด็ดขาด
2. เมื่อดินแห้งควรมีการพรวนดินบ้าง เพื่อเพิ่มออกซิเจนให้แก่รากพืช ทำให้รากพืชแตกใหม่ได้ดีขึ้น
3. ตรวจดูว่ารากเน่าถอดปลอกหรือไม่ กรณีที่เกิดบาดแผลที่โคนต้น ให้ถากเนื้อเยื่อที่เป็นโรคออก แล้วทาด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา แมนโคเซ็บ (ห้ามใช้สาร คาร์เบนดาซิม เพราะจะทำให้ใบแก่ร่วงเร็วก่อนอายุ)
ข้อควรระวัง
- ช่วงเดือนแรกหลังน้ำลด ห้ามใช้สารควบคุมวัชพืช ยาฆ่าหญ้า เพราะยาค่อนข้างแรง รากพืชยังอ่อนแอ อาจทำลายระบบรากเพิ่มเติมได้ ควรตัดหรือดายหญ้า รอให้พืชตั้งตัวดีก่อน
- ห้ามราดสารเคมีป้องกันกำจัดรักษาโรครากเน่าโคนเน่าด้วย แนะนำให้ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาแทน ทั้งในลักษณะการราดดิน และฉีดพ้นทางใบ