วันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 นายประถม มุสิกรัตน์ เกษตรจังหวัดสงขลา มอบหมายให้เจ้าหน้าที่กลุ่มอารักขาพืช ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การระบาดของศัตรูมะพร้าวในพื้นที่อำเภอกระแสสินธู์ พบการเข้าทำลายของหนอนหัวดำมะพร้าว จำนวน 21 ไร่ ในพื้นที่หมู่ที่ 4 ตำบลโรง จากการสอบถามข้อมูลเกษตรกรเบื้องต้นพบว่า เกษตรกรได้ใช้ไซเพอร์เมทริน 35% W/V EC ฉีดพ่นไป 2 ครั้ง และได้แจ้งเจ้าหน้าที่ให้ลงพื้นที่ติดตาม จากการสำรวจเบื้องต้นไม่พบแมลง มีเพียงร่องรอยของการทำลาย ซากดักแด้ เพื่อป้องกันการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวอย่างมีประสิทธิภาพ แนะนำให้จัดการ ดังนี้
1. หมั่นสำรวจแปลง
2. ทำความสะอาดแปลง
3. ตัดทางใบมะพร้าวที่มีหนอนไปเผาทำลายเพื่อลดจำนวนประชากรหนอน
4. หากพบการระบาดรุนแรง แนะนำให้ฉีดพ่นด้วยสารเคมีชนิดใดชนิด
หนึ่ง ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วทรงพุุ่ม ดังนี้
มะพร้าวที่มีความสูงน้อยกว่า 12 เมตร
- กลุ่ม 5 สปินโนแสด 12% SC อัตรา 20 มิลลิลิตร
- กล่ม 15 ลูเฟนนูรอน 5% EC อัตรา 20 มิลลิลิตร
- กลุ่ม 28 คลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% SC อัตรา 20 มิลลิลิตร
- กลุ่ม 28 ฟลูเบนไดเอไมด์ 20% WG อัตรา 5 กรัม
มะพร้าวที่มีความสูงมากกว่า 12 เมตร
- กลุ่ม 6 อิมาเม็กติน เบนโซเอท 1.92 % EC ฉีดเข้าลำต้นมะพร้าว อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อต้น
และพบการเข้าทำลายของด้วงแรดมะพร้าว จำนวน 3 ไร่ ในพื้นที่หมู่ที่ 4 ตำบลกระแสสินธุ์ แนะนำให้เกษตรกรจัดการ ดังนี้
1. ทำความสะอาดแปลง
2. ทำกองล่อ โดยทำกองปุ๋ยหมักขนาด 2x2x0.5 เมตร รดน้ำให้มีความชื้น เพื่อล่อตัวเต็มวัยด้วงแรดมาวางไข่ หากพบหนอนด้วงแรดมะพร้าวให้คลุกเชื้อราเมตาไรเซียม อัตรา 1 กิโลกรัมต่อกอง ต่อพื้นที่ปลูกมะพร้าว 2 ไร่ เพื่อทำลายหนอนด้วงแรด
3. ใช้กับดักฟีโรโมนล่อตัวเต็มวัยมาทำลาย
สุพัชร์ อนันทนุพงศ์ : ภาพ
พนิต วรรณวงศ์ : ข่าว
ฐิตาภรณ์ อนุสาร : รายงาน

Related News